ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

วันนี้เราจะมาพูดถึง “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” หรือ Withholding Tax กันค่ะ

จากที่เคยติดต่องาน ฟรีแลนซ์หลายคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีตัวนี้ดีแล้ว และอาจมีบางส่วนที่ยังงงๆ อยู่ บางคนไม่สะดวกให้หักเพราะจะทำให้ได้รับค่าจ้างน้อยลงกว่าเดิม บางคนก็หวาดระแวงไม่อยากให้สำเนาบัตรประชาชนกับคนแปลกหน้า แต่ก็ทำให้เราพลาดโอกาสในการทำงาน โดยเฉพาะกับผู้ว่าจ้างที่เป็นนิติบุคคลค่ะ

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย สรุปให้เข้าใจง่ายคือภาษีที่ทาง “ผู้ว่าจ้าง” จะต้องหักไว้เพื่อนำส่งสรรพากรแทน “ผู้รับจ้าง” ทุกเดือนค่ะ ไม่ได้หักเก็บไว้เข้ากระเป๋าตัวเองแต่อย่างใด อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเภทรายได้ ส่วนมากถ้าเป็นฟรีแลนซ์งานวาด งานเขียน จะอยู่ที่ 3% นั่นก็คือถ้าฟรีแลนซ์เรียกราคา 2,000 บาท ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินฟรีแลนซ์ 1,940 บาท หักเก็บไว้ส่งสรรพากรที่ 60 บาท (ถ้าเป็นงานที่ต่ำกว่า 1,000 บาท สามารถงดเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ค่ะ)

ซึ่งอย่างที่บอกว่าเป็นภาษีที่ผู้ว่าจ้างส่งสรรพากรแทนผู้รับจ้าง ดังนั้น 60 บาทนี้ จะเป็น “ภาษีที่ชำระไว้แล้ว” ของฟรีแลนซ์นะคะ ผู้ว่าจ้างจะต้องจัดส่งเอกสารรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ทวิ 50) ให้กับฟรีแลนซ์ด้วย ฟรีแลนซ์ต้องเก็บเอกสารนี้ไว้ให้ดี เพื่อนำไปเป็นหลักฐานการยื่นภาษี และถ้ารายได้ของฟรีแลนซ์ไม่ถึงเกณฑ์จ่ายภาษี ก็สามารถขอภาษีส่วนนี้คืนได้ด้วยค่ะ

ปัจจัยที่ทำให้นิติบุคคลต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพราะถ้าไม่หัก จะไม่สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในทางบัญชีได้ค่ะ และในการทำเอกสารจะต้องมีสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงินด้วย แนะนำให้ฟรีแลนซ์ส่งสำเนาบัตรประชาชนให้ผู้ว่าจ้าง แต่อย่าลืมขีดคร่อมแล้วระบุว่า “รับเงินค่า……. จากบริษัท………จำกัด” เพื่อความปลอดภัยค่ะ

และถ้าเมื่อใดมีการหัก ณ ที่จ่ายเกิดขึ้น แปลว่ารายได้นี้เข้าระบบสรรพากรเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมยื่นภาษีกันนะคะทุกคน เพราะสรรพากร is watching you ค่ะ 😀

เป็นแอดมินของ Co-Cave ค่ะ

Leave a Reply