ในการเป็นนักเขียนอิสระ Co-Cave ขอลำดับขึ้นตอนการผลิตหนังสือและการวางขายหนังสือเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้ ซึ่งถ้านักเขียนเข้าใจดีแล้วก็อาจดำเนินการได้เองทั้งหมด หรือถ้าไม่สะดวก เช่น งานประจำก็ยุ่งขิง หรือตัวนักเขียนอยู่ต่างประเทศ ก็สามารถใช้บริการของผู้ให้บริการที่ลงโพรไฟล์กับทาง Co-Cave และการอ่านรายละเอียดในหน้านี้ จะทำให้เข้าใจการขั้นตอนต่างๆ มากขึ้นค่ะ

นักเขียนจะต้องเขียนต้นฉบับให้จบก่อนนะคะ ในการเป็นนักเขียน ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการเขียนต้นฉบับให้จบอีกแล้วค่ะ 😀

มีทั้งหมด 5 ขั้นตอนด้วยกันค่ะ โดยทาง Co-Cave ได้รวบรวมฟรีแลนซ์ในแต่ละด้านไว้ให้นักเขียนแล้ว นักเขียนสามารถติดต่อฟรีแลนซ์ได้เองเลยค่ะ

  • บรรณาธิการ จะช่วยนักเขียนดูแลต้นฉบับให้สมบูรณ์มากที่สุด เพราะการผลิตผลงานด้วยตัวเองเพียงคนเดียว อาจมีบางมุมมองที่หลงลืมหรือตกหล่นไป การมีบรรณาธิการคอยช่วย จะทำให้ต้นฉบับของนักเขียนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หากนักเขียนยังไม่พร้อมใช้บรรณาธิการ การใช้นักอ่านทดลอง (Beta Reader) อาจพอช่วยเรื่องมุมมองในเรื่องได้ค่ะ
  • พิสูจน์อักษร คำผิด (ทั้งเขียนผิดและใช้คำผิดความหมาย) การเขียน (พิมพ์) ตกหล่น พิมพ์สลับ เกิดขึ้นกับนักเขียนได้แน่นอนค่ะ แล้วไหนจะมีเรื่องคำทับศัพท์ที่เราต้องทึ่งกับทางราชบัณฑิตอยู่เสมอ การใช้พิสูจน์อักษรจะช่วยให้ต้นฉบับของนักเขียนมีคำผิดน้อยที่สุด ซึ่งจะทำให้การอ่านไม่สะดุด ต้นฉบับของเราจะสนุกขึ้นอีกมากค่ะ
  • จัดหน้าหนังสือ นอกจากต้นฉบับที่ดีแล้ว การจัดหน้าหนังสือที่สวยงามก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพราะนักเขียนก็คงอยากให้หนังสือของตัวเองออกมาสวยงามที่สุดใช่ไหมล่ะคะ
  • ปกหนังสือ การออกแบบปกหนังสือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นจุดประทับใจแรกของนักอ่านที่มีต่อหนังสือแต่ละเล่ม แต่อย่างไรก็ตาม Co-Cave ไม่สนับสนุนให้นักเขียนทุ่มงบประมาณกับปกจนเกินไปนัก ควรกำหนดงบประมาณในการทำปกให้เหมาะสม เพราะแม้ปกจะเป็นสิ่งดึงดูดใจ แต่เนื้อหาภายในก็สำคัญไม่แพ้กันค่ะ ทางเราแนะนำให้นักเขียนวางแผนเรื่องระยะเวลาในการทำปกให้ดี ถ้าเราแน่ใจแล้วว่าต้องการปกแบบไหน สามารถติดต่อนักวาดได้เลย เพื่อให้นักวาดมีเวลาทำงานมากขึ้น และเผื่อแก้ไขยิบย่อยที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยค่ะ
  • การขอเลขประจำตัวหนังสือ หรือ ISBN ทาง Co-Cave แนะนำให้ขอ ซึ่งรายละเอียดสามารถดูได้ที่ การขอ ISBN ซึ่งการขอ ISBN จะต้องมีข้อมูลหนังสือพร้อมแล้วตั้งแต่หน้าปกไปจนถึงราคาขาย

หลังจากผ่านขั้นตอนการเตรียมต้นฉบับแล้ว นักเขียนสามารถลงขายอีบุ๊กในแต่ละแพลตฟอร์มได้เลย และหากนักเขียนต้องการทำเล่มจะต้องมีข้อมูลสำหรับการขอราคาจากโรงพิมพ์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว Co-Cave จะแนะนำให้ขอราคาจากโรงพิมพ์เพื่อให้เรารู้ต้นทุนการผลิต เพื่อนำมาคำนวณราคาหนังสือที่เหมาะสมได้ก่อนนะคะ

ข้อมูลที่ต้องใช้ตอนขอราคามีดังนี้

  • ขนาดหนังสือที่ต้องการ เช่น A5 หรือ B6
  • ชนิดกระดาษหน้าปกที่ต้องการใช้ (ทั่วไปจะใช้กระดาษอาร์ตการ์ด 250-300 แกรม แต่หากต้องการกระดาษพิเศษ สามารถแจ้งโรงพิมพ์ได้) พิมพ์ปกกี่สี
  • กระดาษเนื้อในที่ต้องการใช้ (ปัจจุบันมีกระดาษที่เหมาะกับการอ่านให้เลือกมากมาย ไม่เฉพาะกรีนรีดเท่านั้น) พิมพ์เนื้อในกี่สี
  • จำนวนหน้าของเนื้อใน
  • ต้องการโปสต์การ์ดกับที่คั่นหรือไม่ ส่งแยกหรือให้แนบกับหนังสือ
  • ตัวเลือกพิเศษอื่นๆ เช่น ต้องการเทคนิคพิเศษหรือไม่ (พิมพ์ฟอยล์, ปั๊มนูน, ยิง spot UV เป็นต้น)
  • ซีลหนังสือด้วยฟิล์มหรือไม่

สิ่งที่ควรถามจากโรงพิมพ์

  • ขั้นตอนการดำเนินงาน โรงพิมพ์มีการส่งพรูฟอย่างไร ใช้เวลากี่วันในการผลิตงานของเรา (ซึ่งจำนวนวันจะแตกต่างไปตามจำนวนพิมพ์ด้วยค่ะ)
  • การจัดส่งของโรงพิมพ์เป็นอย่างไร จัดส่งฟรีหรือมีค่าใช้จ่าย
  • ความรับผิดชอบกรณีมีนหังสือชำรุดจากการผลิต (ปกติแล้วโรงพิมพ์จะพิมพ์เพิ่มมาให้อยู่แล้ว แต่ถ้ามีเล่มชำรุดเยอะก็อาจให้ทางโรงพิมพ์การันตีความรับผิดชอบได้อีกทางค่ะ)
  • เงื่อนไขการชำระเงิน

ด้านการขาย จะมีสองแบบคือ อีบุ๊ก กับการขายรูปเล่ม นักเขียนสามารถขายได้เองทั้งหมด

โดยการเปิดขายเล่มออนไลน์นั้น ปกติแล้วช่องทางขายจะมี

  • โซเชียลมีเดียของนักเขียน
  • แพลตฟอร์มร้านค้าสำเร็จรูป เช่น lnwshop
  • ร้านหนังสือทั้งออนไลน์และออฟไลน์
  • แพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Shopee / Lazada

สิ่งที่นักเขียนควรเตรียม

  • วัสดุสำหรับแพ็กหนังสือส่งนักอ่าน กล่อง กันกระแทก เทปปิดกล่อง
  • เครื่องพรินต์สำหรับพรินต์ที่อยู่นักอ่าน หากต้องการความสะดวกแนะนำเครื่องพรินต์สติกเกอร์แบบความร้อนซึ่งมีหลากหลายราคาและขนาดให้เลือก (แต่หากลงขาย Shopee / Lazada แนะนำให้เลือกเครื่องที่พรินต์ขนาด 100*150mm. ได้ค่ะ)
  • เวลาและแรงงานในการบรรจุหนังสือลงกล่อง
  • การขนหนังสือไปส่งที่บริษัทขนส่ง หรือคอนแท็กต์สำหรับเรียกขนส่งมารับ
  • เตรียมใจกรณีขนส่งทำหนังสือเสียหาย

สำหรับบุคคลธรรมดา การทำหนังสือจะเสียภาษีเป็นประเภทรายได้ 40(8) ค่ะ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% และต้องยื่นภาษี 2 ครั้งต่อปี (ยกเว้นการยื่นภาษีกลางปีได้ กรณีรายได้ไม่เกิน 60,000 บาท)

และสำหรับนักเขียนที่มีรายได้เกิน 1,800,000 บาท ทางเราเสนอให้เปิดบริษัทเป็นนิติบุคคลเพื่อประโยชน์ด้านภาษี แต่แน่นอนว่าจะยุ่งยากขึ้นในแง่การจัดเก็บเอกสารและทำบัญชี ซึ่ง Co-Cave มีบริการกรณีนักเขียนอยากใช้เงินแก้ปัญหานะคะ ถ้าเทียบรายจ่ายในการเปิดบริษัทแล้วน้อยกว่าภาษีที่ต้องเสียไปเมื่อไร ขอแนะนำให้เปิดบริษัทค่ะ